รู้ไหมว่า สายพันธุ์ทุเรียน ในไทยนั้นมีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ และ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ด้วยกัน แต่สายพันธุ์ที่รู้จักกันส่วนใหญ่ และ นิยมทานมีแค่ 4 สายพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และกระดุม
รู้จักกับ 10 สายพันธุ์ทุเรียน
ครั้งนี้จึงอยากพามารู้จักกับ 10 สายพันธุ์ทุเรียน พื้นบ้านของไทย ที่หากินได้ยาก เพราะ ส่วนใหญ่จะมีแต่สวนทุเรียนที่อนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิมนี้ไว้ และ ไม่ค่อยมีจำหน่ายกันทั่วไป
1 I สายพันธุ์ทุเรียน : ไอ้เม่น
เป็นทุเรียนที่อยู่ในกลุ่มทองย้อย ลักษณะผล ทรงผลรูปรี ปลายผลป้าน ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมันปานกลาง ลักษณะเนื้อละเอียดมาก เนื้อเหนียวเล็กน้อย
2 I สายพันธุ์ทุเรียน : แดงรัศมี
เป็นทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดนนทบุรี อยู่ในกลุ่มลวง ลักษณะผล มีผลขนาดเล็ก ปลายผลจุ่น หนามสีน้ำตาลออกแดง ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมัน เนื้อสีเข้มเป็นมัน มีเนื้อทุกพู
3 I สายพันธุ์ทุเรียน : ทองย้อยฉัตร
เป็นทุเรียนในกลุ่มทองย้อย ลักษณะผล มีขนาดปานกลาง หนามตรงแหลม ก้านขั้วใหญ่และแข็งแรง ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อหยาบและหนา
4 I กบสุวรรณ
เป็นทุเรียนที่พบในจังหวัดนนทบุรี อยู่ในกลุ่มกบ ลักษณะผลมีขนาดปานกลาง เป็นทรงไข่กลับ หนามนูนปลายแหลม ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด สีเหลืองอ่อน เนื้อไม่เละง่าย กลิ่นไม่ฉุน
5 I เม็ดในยายปราง
เป็นทุเรียนในกลุ่มเบ็ดเตล็ด ลักษณะผลมีขนาดเล็กถึงปานกลาง ลูกบิดงอ ปลายผลป้าน หนามละเอียดเล็กแหลม ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลืองเข้มและหนา เนื้อละเอียด เม็ดค่อนข้างลีบ
6 I ดาวกระจาย
เป็นทุเรียนที่พบในจังหวัดนนทบุรี อยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด ลักษณะผลขนาดกลางเป็นรูปไข่กลับ ฐานหนามขนาดใหญ่ ก้านขั้วเล็ก ลักษณะเนื้อ มีรสชาติไม่หวานจัดแต่มันมาก เนื้อเนียนละเอียด ปริมาณน้ำในเนื้อน้อย
7 I นวลทองจันทร์
เป็นทุเรียนลูกผสมระหว่าง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง กับ ทุเรียนพันธุ์พวงมณี ลักษณะผลกลมรี ฐานผลแบน ปลายผลแหลม หนามรอบขั้วงุ้มเข้า ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมาก เนื้อละเอียด ปริมาณน้ำในเนื้อน้อย กลิ่นไม่ฉุน
8 I ก้านยาวสาวสวย
เป็นทุเรียนจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ลักษณะผลขนาดกลาง ปลายผลแหลม ลักษณะเนื้อมีรสชาติหวานมัน เนื้อเนียนละเอียด ปริมาณน้ำในเนื้อน้อย
9 I นกหยิบ
เป็นทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดนนทบุรี อยู่ในกลุ่มทองย้อย ลักษณะผล เป็นทรงผลยาว กลางผลป่อง ขั้วมีขนาดใหญ่และสั้น ผลสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานจัด แต่มันมาก กลิ่นไม่ฉุน
10 I หลงลับแล
เป็นทุเรียนจากจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในกลุ่มเบ็ดเตล็ด ลักษณะผล มีเปลือกสีเขียวอมเหลือง ร่องพูไม่ชัดเจน ลักษณะเนื้อ มีรสชาติหวานมัน เนื้อละเอียด กลิ่นไม่ฉุน เมล็ดลีบ
สายพันธุ์ทุเรียน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม
โดยแบ่งตามลักษณะของรูปร่างผล ลักษณะหนาม ก้านผล และใบ จึงแบ่งได้เป็น 6 กลุ่มตามนี้
- ทุเรียนกลุ่มกบ – ผลมีลักษณะกลมรี ลักษณะของหนามเป็นแบบโค้งงอ เช่น กบสุวรรณ กบหัวล้าน กบชายน้ำ กบพิกุล
- ทุเรียนกลุ่มลวง – ผลมีลักษณะ 2 แบบ คือ แบบทรงกระบอก และ แบบกลมรี ลักษณะของหนามจะเว้า สายพันธุ์ที่นิยมทาน คือ ชะนี ส่วนพันธุ์อื่นๆ เช่น ลวงทอง ชมพูศรี ลวง ย่ำมะหวาด
- ทุเรียนกลุ่มก้านยาว – ผลมีลักษณะกลมรีคล้ายกับไข่กลับด้าน ลักษณะของหนามจะนูน เช่น ก้านยาว ทองสุก ก้านยาวสีนาค
- ทุเรียนกลุ่มกำปั่น – ผลมีลักษณะเป็นทรงขอบขนาด หนามตรง รู้จักกันดี คือ หมอนทอง ส่วนพันธุ์อื่นๆ เช่น ชายมะไฟ กำปั่นเดิม กำปั่นเหลือง ปิ่นทอง
- ทุเรียนกลุ่มทองย้อย – ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ และ หนามนูนแหลม เช่น ทองย้อยฉัตร ฉัตร นกหยิบ แดงรัศมี
- ทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด – มีลักษณะที่ไม่แน่ชัด บางลักษณะก็คล้ายคลึงก็ 5 กลุ่มก่อนหน้านี้ เช่น เม็ดในยายปราง ดาวกระจาย กระดุมทอง นกกระจิบ พวงมณี อีลีบ อีหนัก หลงลับแล
การเลือกซื้อต้นกล้า สายพันธุ์ทุเรียน ต่างๆ
ต้นพันธุ์ทุเรียนที่ดีให้เลือกซื้อต้นที่ได้รับการเสียบยอด เพราะต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีรากที่แข็งแรง หาอาหารเก่ง กล้าพันธุ์อายุไม่เกิน 1 ปี ความสูงประมาณ 1 เมตร และ ไม่ควรเลือกต้นทุเรียนที่แก่จัด เพราะรากจะขดอยู่ในถุงปลูก ทำให้เวลาไปปลูกแล้วจะโตช้า เลือกต้นที่มีใบมีสีเขียวเข้มและแก่ ไม่ควรเลือกต้นที่แตกใบอ่อน เพราะใบจะเหี่ยวเฉาง่ายจากแสงแดดได้
รวมถึงเลือกต้นที่ไม่มีโรคแมลง และตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ ถ้าต้นที่ซื้อไปมีแตกกิ่งจากต้นตอ หรือแตกกิ่งจากใต้บริเวณที่เสียบยอด ให้ตัดกิ่งที่แตกออกมาทิ้งไป ถ้าเป็นไปได้ให้ซื้อต้นที่ไม่แตกกิ่งจากต้นตอดีที่สุด
กิ่งพันธุ์มีแบบกิ่งกระโดง กับ กิ่งข้าง เลือกแบบไหนดี?
- กิ่งกระโดง มีลักษณะเป็นพุ่มแล้ว สังเกตได้จากการแตกกิ่งรอบทิศทางคล้ายกับต้นสน
- กิ่งข้าง จะแตกกิ่งออกด้านข้างซ้าย-ขวา ทำให้มีจำนวนกิ่งน้อยกว่า ส่งผลให้โตเร็วกว่ากิ่งกระโดง ใช้เวลา 1-2 ปี ก็กลายเป็นพุ่มเหมือนกิ่งกระโดง
ไม่ว่าจะเป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งข้าง ก็สามารถให้ผลที่เหมือนกันได้ ที่สำคัญต้องมีไม้ค้ำในช่วงแรกเพื่อกันไม่ให้กล้าพันธุ์ทุเรียนโค่นล้มจากแรงลม และมีซาแรนพรางแสงในช่วงหน้าแล้ง หรือช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งแนะนำให้ปลูกกล้าทุเรียนในช่วงฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด
การเตรียมต้นทุเรียนก่อนปลูก
ในช่วงแรกที่นำต้นกล้าทุเรียนมาปลูก ให้นำไปวางไว้ใต้ซาแรนพรางแสงไม่เกิน 70% หรือใต้ร่มไม้ที่ไม่ทึบหรือโปร่งจนเกินไป ใช้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้กล้าไม้ปรับสภาพก่อน รดน้ำทุกวันในช่วงเช้า และให้วางบนพื้นดิน ไม่ควรวางบนพื้นปูนที่โดนแดดจัด
ขอขอบคุณภาพ : I’m Durian
ข้อมูลสายพันธุ์ทุเรียน : ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี / ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี